ประวัติสมาคมค้าทองคำ Gold traders association history

ประวัติสมาคมค้าทองคำ

ประวัติสมาคมค้าทองคำ ปัญหาในยุคแรก จุดดำเนิดสมาคม การก่อตั้งสมาคมค้าทองคำ ผลงานต่างๆของสมาคมค้าทองคำ ไม่ว่าจะเป็น ด้านโครงสร้างภาษี หรือด้านพัฒนาอุตสาหกรรม รวบรวมไว้ที่นี่

วัตถุประสงค์ของสมาคมค้าทองคำ

  1. ส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจประเภทที่เกี่ยวกับ การค้าทองคำ
  2. สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิก แก้ไขอุปสรรคข้อขัดข้องต่าง ๆ รวมทั้งเจรจาทำความตกลงกับ บุคคลภายนอก เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการประกอบวิสาหกิจของสมาชิก สอดส่องและติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดการค้าทองคำ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่ออำนวยประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจการค้าอุตสาหกรรมการเงิน หรือ เศรษฐกิจ
  3. ประสานความสามัคคี และแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นซึ่งกันและกันในทางวิชาการข่าวสารการค้า ตลอดจนการวิจัยเกี่ยวกับการตลาดการค้าทองคำ
  4. ขอสถิติ หรือเอกสาร หรือขอทราบข้อความใด ๆ จากสมาชิก เกี่ยวกับการดำเนินการค้าทองคำ ทั้งนี้ด้วยความยินยอมจากสมาชิก
  5. ส่งเสริมคุณภาพของทองคำที่สมาชิกเป็นผู้ผลิต หรือจำหน่ายให้เข้าสู่มาตรฐานที่ดี ตลอดจนวิจัยและปรับปรุงการผลิต และการค้าให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
  6. ร่วมมือกับรัฐบาลในการส่งเสริมคุณภาพทองคำให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี สอดคล้องกับนโยบายของทางราชการ
  7. ส่งเสริมการผลิตเพื่อให้ทองคำมีปริมาณเพียงพอแก่ความต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ
  8. ทำความตกลงหรือวางระเบียบให้สมาชิกปฏิบัติ หรืองดเว้นการปฏิบัติ เพื่อให้การประกอบวิสาหกิจของสมาชิกดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
  9. ส่งเสริมพลานามัย กีฬา และจัดงานบันเทิงเป็นครั้งคราว
  10. ประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างสมาชิก หรือระหว่างสมาชิกกับบุคคลภายนอกในการประกอบวิสาหกิจ
  11. ให้ความอนุเคราะห์แก่สมาชิกในด้านงานสวัสดิการ เท่าที่ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติสมาคมการค้าพุทธศักราช 2509
  12. ไม่ดำเนินการในทางการค้า หรือการเมืองอย่างใดทั้งสิ้น

ยุคแรกของการค้าทองคำในไทย

การค้าทองคำของไทยในยุคแรกนั้น เมื่อในอดีต วงการค้าทองคำ จะเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการประกอบการค้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้เปอร์เซ็นต์ทองที่ไม่เท่ากัน โดยผู้ค้าทองบางรายผลิตทอง 99% บางรายก็ผลิตทอง 97% มีการแข่งขันโดยการทำการตลาด เรื่องค่ากำเหน็จ การแจกของชำร่วย การกำหนดเวลาเปิด – ปิดร้าน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการแก้ไข

ต้นกำเนิด “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง”

เมื่อเกิดสภาพปัญหาดังที่ได้กล่าวมา เริ่มมีความรุนแรงมากขึ้น ด้านผู้ประกอบการร้านค้าทองรายใหญ่ในย่านถนนเยาวราช จึงได้มีการรวมตัวกันมาร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่างๆจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้การแข่งขันมีความเสมอภาคกัน  พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานการค้าทองคำร่วมกัน โดยในที่ประชุมเห็นควรที่จะจัดรวมกลุ่มให้เข้มแข็งขึ้น จึงจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมาภายใต้ชื่อว่า  “ชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง”

ก่อตั้ง “สมาคมค้าทองคำ”

ทางด้านชมรมร้านค้าทอง 11 ห้าง ได้มีการทำงานอย่างหนักโดยมุ่งมั่นพัฒนาการทำการค้า และความร่วมมือกันในเรื่องต่าง ๆ เมื่อการค้ามีการพัฒนามากขึ้นก็เริ่มเกิดผลลัพธ์ที่ดี ทางภาครัฐจึงนำกฎระเบียบต่าง ๆ เข้ามาบังคับใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น เรื่องการจัดเก็บภาษี และต่อมาแกนนำในชมรมฯ ได้มีความเห็นว่าควรที่จะจัดตั้งเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ

 

จนกระทั่งในปี พ.ศ.2526 ทางกลุ่มชมรมฯ ได้ยื่นขอจดทะเบียน จัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นภายใต้ชื่อว่า “สมาคมค้าทองคำ” เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2526 

 

โดยสมาชิกสมาคมในระยะแรกประกอบด้วยร้านค้าทองในย่านเยาวราช และภายหลังต่อมาได้มีสมาชิกที่ประกอบธุรกิจค้าทองคำจากทั่วประเทศเข้ามาเพิ่มเติมขึ้นเป็นลำดับ

ผลงานที่ผ่านมาของสมาคมค้าทองคำ

ทางด้านโครงสร้างภาษีอากร

สมาคมค้าทองคำได้มีการผลักดันแก้ปัญหาโครงสร้างภาษีอากร โครงสร้างภาษีอากรนั้นนับเป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจค้าทองคำและมีผลกระทบอย่างกว้างขวาง ซึ่งสมาคมฯ ได้มีบทบาทผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเอื้อต่อการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการค้าทองคำทั้งประเทศ

การเปลี่ยนแปลงอัตราภาษีศุลกากร สำหรับการนำเข้าทองคำแท่ง

สืบเนื่องจากในสมัยก่อนการนำเข้าทองคำแท่งจะต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูงถึง 35% ส่งผลให้มีการลักลอบนำทองคำเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวม โดยสมาคมฯ ให้มุมมองว่า ทองคำ เปรียบเสมือนเงินตรา และสามารถนำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศได้เมื่อเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ 

 

ดังนั้น จึงเสนอรัฐบาลในขณะนั้นให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าทองคำแท่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวของเศรษฐกิจ และเป็นแนวทางที่เป็นสากล จนรัฐบาลมีความเห็นที่สอดคล้องกัน และมีการปรับลดอัตราภาษีเหลือ 5% และต่อมาได้ ลดลงเหลือ 0% ในปี 2535 ซึ่งทำให้ประชาชนผู้บริโภค สามารถซื้อทองคำแท่งในราคาที่สะท้อนความเป็นจริงกับตลาดโลก ทำให้ตลาดการค้าขายทองคำในประเทศไทยเกิดการขยายตัวอย่างมาก

การเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกิจค้าทองคำ ภาษีโภคภัณฑ์, ภาษีการค้า, ภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)

การจัดเก็บภาษีในรูปแบบเดิมมีปัญหาในทางปฏิบัติ และก่อให้เกิดปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีอย่างมาก ภาษีมูลค่าเพิ่มมีผลทำให้กำลังซื้อของประชาชน และความต้องการที่จะเปลี่ยนทองรูปพรรณใหม่ปรับลดลง เนื่องจากต้องเสียภาษีซ้ำซ้อน ส่งผลให้ธุรกิจการค้าทองคำไม่ขยายตัว

 

สมาคมฯ จึงเป็นตัวแทนผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษี VAT โดยการให้ข้อมูล และเปรียบเทียบผลดีผลเสีย ซึ่งผลจากการที่สมาคมฯ ผลักดันในครั้งนั้น ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บภาษีในรูปแบบใหม่ ที่เป็นมาตรฐานเดียวกับสากล โดยจัดเก็บภาษีเฉพาะส่วนต่างของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากราคาทองคำแท่ง ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี 2543 และส่งผลทำให้ตลาดการค้าขายทองรูปพรรณของประเทศไทยเกิดการขยายตัวอย่างมากเช่นกัน

ทางด้านการพัฒนาอุตสาหกรรม และธุรกิจค้าทองคำ

การสร้างมาตรฐานเปอร์เซ็นต์ทอง 96.5% ทั่วประเทศ

นอกจากเรื่องการจัดระเบียบภาษีในวงการค้าทองคำแล้ว อีกหนึ่งผลงานที่ถือว่าสร้างความประทับใจให้กับร้านค้าทองคำทั่วประเทศก็คือ การร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ในการสร้างมาตรฐานทองรูปพรรณให้มีเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของทอง 96.5% เริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือการควบคุมโรงงานผู้ผลิตหรือร้านค้าส่งทุกราย ให้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานตามที่กำหนด ไปจนถึงปลายทางก็คือร้านค้าปลีก โดยมีการสุ่มตรวจเปอร์เซ็นต์ความบริสุทธิ์ของทองอยู่เสมอ ถือเป็นการตรวจจากต้นน้ำ เมื่อต้นน้ำดี ปลายน้ำย่อมดีตามไปด้วย

 

ทำให้ในปัจจุบัน ปัญหาทองเขียวหรือทองเปอร์เซ็นต์ต่ำที่พบบ่อยครั้งในอดีต หมดไปจากท้องตลาด ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าจะได้รับทองรูปพรรณที่ได้มาตรฐาน แม้ว่าในช่วงแรกของการดำเนินงานจะมีแรงต้าน เพราะเห็นว่าการที่จะสร้างมาตรฐานเดียวกันนั้นยุ่งยาก แต่เมื่อผู้ค้าทองส่วนใหญ่เข้าใจว่าการปฏิบัติตามมาตรฐานแล้ว จะทำให้การค้าทองได้รับความน่าเชื่อถือ และส่งผลดีต่อการประกอบธุรกิจในอนาคต ผู้ประกอบการหลายรายก็เริ่มให้ความร่วมมือและเข้าร่วมในการดำเนินงาน

 

ในอดีตผู้บริโภคที่ต้องการจะซื้อทองก็จะมุ่งหน้ามายังเยาวราชเพราะเข้าใจว่าเป็นทองที่มีมาตรฐาน แต่เมื่อมีการจัดทำโครงการนี้ขึ้น มีเครื่องหมายที่ประกาศรับรองจาก สคบ. และ สคบ. มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบถึงมาตรฐานดังกล่าว ก็ทำให้บรรดาร้านค้าทองทั่วประเทศมีผลประกอบกิจการค้าขายที่ดีขึ้น และทำให้เห็นชอบกับแนวทางการดำเนินงานของสมาคมค้าทองคำ

การให้ความคุ้มครองผู้บริโภคโดยการประกันราคารับคืนทองรูปพรรณ

สมาคมค้าทองคำ ได้ให้ความร่วมมือภาครัฐ ในการประชาสัมพันธ์ให้ร้านทองประกันราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณของตัวเอง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า หากซื้อทองจากร้านนั้น ๆ และเมื่อนำมาขายคืน จะไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทำให้ร้านทองเห็นด้วยกับแนวทางการดำเนินงานของสมาคมฯ ที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค และทำให้การค้าขายทองคำของไทยมีความคล่องตัวขึ้น

การจัดการปัญหาทองปลอม

จากการที่มีกลุ่มมิจฉาชีพ ผลิตทองปลอมออกมาเพื่อหลอกขาย หรือขายฝากให้แก่ร้านทองทั่วไป ในรูปแบบของทองรูปพรรณเก่า โดยลักษณะพฤติกรรมของคนร้ายจะกระทำเป็นขบวนการ และมีความยากลำบากในการเอาผิด ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ก่อความเสียหายโดยภาพรวมจำนวนมหาศาล

 

สมาคมฯ จึงได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการฯ ขึ้นมาดูแลปัญหานี้ และได้ประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สภาทนายความ ฯลฯ โดยที่ผ่านมาได้มีการทลายแหล่งผลิตทองปลอม และกลุ่มแก๊งต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง 

 

และยังได้จัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการทั่วประเทศ ในโครงการ “รู้ทันทองปลอม สัญจร” ซึ่งจัดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งปัจจุบันทำให้ปัญหาทองปลอมลดน้อยลงเป็นอย่างมาก

การกำหนดและประกาศราคาทองคำของประเทศไทย

สมาคมค้าทองคำ เป็นผู้กำหนดและประกาศราคาทองคำของประเทศไทย โดยได้รับการยอมรับเป็นราคาอ้างอิงกลางของประเทศไทย ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐเอกชน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง กรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

สมาคมค้าทองคำ มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการควบคุมราคาทองของสมาคมฯ คอยกำกับดูแลตลอดช่วงเวลาการซื้อขาย โดยการตัดสินใจปรับ ขึ้น-ลง ราคาทองคำในประเทศแต่ละครั้ง ทางสมาคมฯ จะพิจารณาองค์ประกอบของราคาทองคำในตลาดโลก ค่าเงินบาท อัตราค่า Premium รวมถึง Demand และ Supply ภายในประเทศเป็นสำคัญ โดยกล่าวได้ว่า ตลาดค้าทองคำของไทยนั้น เป็นตลาดที่มีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ และสามารถดำเนินไปด้วยกลไกตลาดอย่างแท้จริง

รายนามคณะกรรมการสมาคมค้าทองคำ วาระปี 2562-2563 (สมัยที่ 19)

  • คุณจิตดต ตั้งสิทธิ์ภักดี (นายกสมาคมค้าทองคำ บจ.ห้างขายทองจินฮั้วเฮง)
  • คุณพิชญา พิสุทธิกุล (อุปนายกสมาคม คนที่ 1 บจ.เลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์)
  • รศ.ดร.จักษ์ อัศวานันท์ (อุปนายกสมาคม คนที่ 2 หจก.ห้างทองบ้านฮั่วล้ง)
  • คุณอุบล วิริยะผล (อุปนายกสมาคม คนที่ 3 หจก.ห้างค้าทองยู่หลงกิมกี่)
  • คุณสุพจน์ โรจนากี (อุปนายกสมาคม คนที่ 4 บจ.ห้างค้าทอง หลูชั้งฮวด 2498)
  • คุณพรชัย สุดายุวร (เลขาธิการสมาคม บจ.หลูชั่งเฮงเฮงฮวด)
  • คุณธีรเดช สินธพเรืองชัย (รองเลขาธิการสมาคม บจ.ห้างขายทองใบเยาวราชฯ)
  • คุณเดชนรินทร์ ภัคอธิคม (รองเลขาธิการสมาคม บจ.ซินคีเชียงค้าส่ง)
  • คุณกีรติพงษ์ คูหาเปรมกิจ (นายทะเบียน บจ.ห้างทอง จิ้นไถ่เฮง)
  • คุณวิฑูร จุฑาวรากุล (เหรัญญิก บจ.จูเจียบเซ้ง)
  • คุณสันติ เอื้ออำนวยพร (รองเหรัญญิก บจ.ทองภัทรโกลด์ฯ)
  • คุณพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ (กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บจ.วายแอลจี บูลเลี่ยนฯ)
  • คุณวรชัย ตั้งสิทธิ์ภักดี (กรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บจ.จีทีโกลด์ บูลเลี่ยน)
  • คุณธนรัชต์ พสวงศ์ (กรรมการฝ่ายตรวจสอบ บจ.ฮั่วเซ่งเฮง คอมโมดิทัช)
  • คุณพีรพันธ์ วชิรคพรรณ (กรรมการฝ่ายปฎิคม บจ.เล่งหงษ์)
  • คุณรัฐวงศ์ พสวงศ์ (กรรมการฝ่ายปฎิคม บจ.ห้างขายทองฮั่วเซ่งเฮง)
  • คุณสิทธิศักดิ์ วชิรคพรรณ (กรรมการฝ่ายสวัสดิการ หจก.ทองเล้งหงษ์)
  • คุณบุญเลิศ สิริภัทรวณิช (กรรมการฝ่ายประสานงานกฎหมาย บจ.บ้านช่างทอง)
  • คุณสมบูรณ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์ (กรรมการฝ่ายประสานงานกฎหมาย บจ.ห้างทองน่ำเชียง)
  • คุณสมศักดิ์ ตัณฑชน (กรรมการฝ่ายจัดหารายได้ บจ.ห้างทองชินเจี้ยเชียง)
  • คุณชยากร ดีมั่นคงวณิช (กรรมการฝ่ายจัดหารายได้ บจ.ห้างทอง คุณฮั้ว หล่อ)
แหล่งที่มา: สมาคมค้าทองคำ
Share on facebook
Facebook
Share on twitter
Twitter
Share on pinterest
Pinterest

บทความแนะนำ

ทองคํามีกี่ประเภท

ทองคํามีกี่ประเภท ทองคำ นั้นขึ้นชื่อว่าเป็นแร่ธาตุที่มีมูลค่าสูงเพราะมีปริมาณจำกัด แต่หลายท่าน อาจเคยได้ยินว่ามีทองที่เป็นสีอื่นๆอีก เช่น ทองขาว ทองคำดำ

ทองเค คืออะไร

ทองเค คืออะไร

ทองเคคืออะไร ทองเค คืออะไร ทองเก๊ หรือเปล่า เห็นออกเสียงคล้ายๆกัน ทองเคมีกี่แบบ และทองเคดูยังไง ทองเคขายได้ไหม

สมาชิก สมาคมค้าทองคำ

รายชื่อร้านสมาชิกสมาคมค้าทองคำ

รายชื่อสมาชิกสมาคมค้าทองคำ สมาชิก สมาคมค้าทองคำ รวมรายชื่อสมาชิกสมาคมค้าทองคํา แบ่งตามภูมิภาค รายจังหวัดทั้งหมด อ้างอิงจาก สมาคมค้าทองคำ

ทองรูปพรรณคืออะไร

ทองรูปพรรณ คืออะไร

ทองรูปพรรณ คือ ทองรูปพรรณ ต่างจาก ทองคำแท่ง อย่างไร และทำไม ราคาทองทั้งสองแบบถึงไม่เท่ากัน